วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2553

[SCRAPBOOK] 014 สิ่งทีได้จากไฟไหม้

ถ้าใครเคยอ่าน blog เก่าคงจะพอจำได้ว่า เมื่อต้นปีหลังวาเลนไทน์ไปไม่มากข้าพเจ้าเคยอัพเกี่ยวกับไฟไหม้ไปครั้ง ครั้งนั้นแค่ “เกือบ” แต่ไม่ได้มีอะไรเสียหายเลย แต่ครั้งนี้มันต่างออกไปเพราะตอนนี้ “มันไม่เหลืออะไรเลย” หลายคนเริ่มทักว่าให้ทำบุญบ้าง ดวงเรา “ชง” เรามีเคราะห์กรรม แต่ในความคิดตอนนี้กลับคิดว่าเรายังมี “บุญ” นะ เรายังโชคดีมีที่ให้อยู่ มีข้าวกิน มีเสื้อผ้าใส่ มีเงินไปหาหมอตอนเป็นหวัด


พอคิดได้เลยอยากรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเผื่อว่าข้อมูลเหล่านี้จะมีประโยชน์กับท่านๆ ไม่มากก็น้อย ท่านใดว่ามีประโยชน์ช่วยกดโหวตคนละดาวให้ท่านอื่นๆ ได้เห็นบทความนี้บ้าง ขอขอบคุณล่วงหน้า


เอาละเตรียมพร้อมก่อนบ้านจะไหม้

1. เอกสารของมีค่า เช่น กระเป๋าเงิน มือถือ บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน โฉนด ทอง เครื่องประดับ ยาประจำตัว กุญแจสำคัญ สมุดจดเบอร์โทรศัพท์ที่สำคัญ ไฟฉาย ฯลฯ ควรเก็บรวมในที่เดียวกันหรือใกล้เคียงกันและสามารถที่จะหยิบวิ่งหนีได้ทันที

ตรงนี้หลายคนจะแย้งว่าถ้าไว้ของมีค่าที่เดียวกันไม่เสี่ยงโจรขึ้นบ้านเหรอ? หยิบไปทีก็หยิบหมดเลย ขอให้ตัดสินเองว่า “คุณเตรียมตัวรับมือโจรขึ้นบ้าน” หรือ “คุณจะเตรียมพร้อมกับเพลิงไหม้” ไม่มีใครจะชี้ชัดให้คุณได้ แต่ข้าพเจ้าจะรวบของทุกอย่างเก็บที่เดียว ของมีค่าอื่นๆ ยอมเก็บไว้ในธนาคารดีกว่า

2. จากข้อแรก ข้าพเจ้าเตรียมเก็บของใส่กระเป๋าหนังที่สามารถทนไฟได้ระดับหนึ่งและสามารถสะพาย, แขวน, ห้อยติดกับตัวได้ เพราะตอนหนีไฟข้าพเจ้าจะไม่มีมือว่างเพื่อหิ้วกระเป๋าแน่ๆ
ทำไมถึงเลือกกระเป๋าหนังก็เพราะว่า น้องสาวข้าพเจ้าเก็บกระเป๋าเงิน ซองบัตร เครื่องสำอาง ของจุกจิกใส่กระเป๋าหนัง (แท้) วางไว้ในตู้ แม้ว่าสภาพด้านนอกจะไหม้และเหม็นมากๆ แต่ของในกระเป๋าทุกอย่างยังปลอดภัย ถัดใกล้ๆ กันกระเป๋าพลาสติกและกระเป๋าผ้าไหม้หมด

3. มือถือ... ที่ต้องย้ำอีกครั้งเพราะของสำคัญที่ตอนนี้ลืมไม่ได้จริงๆ  ต้องยอมรับว่าถ้าคุณคว้าอะไรไม่ทันให้หยิบมือถือไปก่อน อุปกรณ์ชิ้นนี้จะช่วยคุณติดต่อญาติพี่น้อง, แจ้งเจ้าหน้าที่ (เมมเบอร์สำคัญไว้ในเครื่องบ้างนะ) ฯลฯ ดีกว่าที่คุณจะยืนเอ๋อเพราะไม่มีเหรียญหยอดตู้โทรศัพท์ ดังนั้นวางในตำแหน่งคุณหยิบได้ทันที (คุณหมอไม่แนะนำให้วางไว้ข้างหัวตอนนอนนะ) เพราะไฟไหม้มันไม่เลือกเวลาว่าคุณจะหลับหรือตื่น

4. ตู้เซฟเก็บเงิน ทอง ไว้ในตู้เซฟในบ้านปลอดภัยจริงหรือ? สิ่งที่เจอกับตัวเอง ตู้เซฟด้านนอกไหม้ ด้านในไม่ไหม้แต่ทองหลอมหมด เงินกรอบไหม้ เอกสารราชการไหม้ ถ้าเลือกจะเก็บของในตู้เซฟในบ้านไม่แน่ว่ามันจะป้องกันไฟได้จริง ซ้ำเป็นจุดรวมสายตาของมิจฉาชีพทั้งหลายที่เล็งขโมยก่อน ถ้าเป็นข้าพเจ้าตอนนี้ (ซึ่งไม่เหลือของมีค่าแล้วแต่ถ้ามีโอกาสจะมีในอนาคต) ขอเลือกยอมเปิดตู้เซฟธนาคารไปเก็บในนั้นดีกว่า

5. ซ่อนเงินทองในบ้าน… นิสัยของผู้ใหญ่รุ่นพ่อรุ่นแม่ที่ชอบเก็บเงินไว้ตามที่ต่างๆ โดยคิดว่ากระจายๆ จะปลอดภัยจากโจรแต่ไม่ปลอดภัยกับพระเพลิง เพราะอะไร... เพราะคุณไม่มีทางจะไปหยิบของได้ทันทุกที่เวลาจวนตัวนะสิ

ยุคนี้เลือกเก็บเงินในธนาคารเถอะ บัตรเอทีเอ็ม, เครดิตหายอย่างน้อยก็แจ้งขอทำใหม่ได้ แต่หมดตัวแน่นอนถ้าเก็บเงินสดไว้ในบ้าน

อ่านมาถึงตรงนี้คงจะมีคนคิดละสิว่าใครจะไปเก็บเงินไว้ในบ้านเยอะๆ = =” ก็บ้านข้าพเจ้านี่แหละ... ตอนข้าพเจ้าฟังตัวเลขแถบจะลมจับ

6. ประกันต่างๆ เตรียมพร้อมไว้หรือยัง ประกันอัคคีภัย ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ สวัสดิการสังคม พวกนี้พอคิดว่าไม่ต้องใช้พอยกเลิกหรือไม่ต่อประกันครั้งใด มักจะต้องมีเหตุให้คิดถึงว่า “ทำไมฉันถึงงกไม่เข้าท่าตอนนั้นทุกครั้ง”

7. ของส่วนตัวอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้าซักชุด ผ้าเช็ดหน้า ผ้าขนหนู ผ้าเช็ดตัว แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สบู่ แชมพู หวี ทิชชู ยาประจำตัว ผ้าอนามัย ฯลฯ ที่ทำให้คุณอยู่ได้อย่างน้อย 1-2 วัน มีจัดเตรียมใส่กระเป๋าไว้บ้างและควรอยู่ในตำแหน่งที่คุณจะหยิบไปพร้อมกับกระเป๋าที่ใส่ของมีค่าได้จะยิ่งดีมากๆ

8. เกือบลืมอุปกรณ์หนีไฟ,,, ถ้าอยู่คอนโดเดี๋ยวนี้มีอุปกรณ์ให้ช่วยโยนตัวลงมาได้ (แต่แพงจัดรู้สึกจะใช้ได้สำหรับอาคารสูงไม่เกิน 15 ชั้น) พวกอุปกรณ์ดับเพลิงถ้าไหม้ไม่มากคุณอาจจะโชคดีที่สามารถได้ใช้อุปกรณ์พวกนี้ป้องกันชีวิตของคุณฝึกใช้ให้เป็นหรือตรวจดูวันหมดอายุของยาบ้าง

9. ซ้อมและให้คิดว่าถ้าเกิดเพลิงไหม้ที่ส่วนต่างๆ ของบ้านเราจะหนีอย่างไร? เมื่อลองซ้อมคิดแล้วลองวิ่งดูเองบ้างว่าทำจริงได้หรือเปล่า? หาทางออกออกได้จริงหรือเปล่า? เหล็กดัดกุญแจไว้ที่หยิบได้ทันทีหรือเปล่า? กุญแจสนิมขึ้นหรือยัง? รวมถึงถ้าหนีออกมาได้แล้วเราจะไปอยู่ที่ไหนคืนนั้น? พวกนี้ลองคิดในแง่ร้ายที่สุดดูบ้างอย่าคิดว่าเหตุร้ายจะไม่เกิดกับตัวเอง เพราะข้าพเจ้าก็เคยคิดแบบนั้นแต่ก็เกิดขึ้นมาแล้ว
ซ้อมวิ่งหนีแล้วบางคนจะซ้อมหอบข้าวของก็ไม่มีใครว่า แต่จะบอกนิดว่าถ้าเป็นไฟไหม้ใหญ่ไม่มีโอกาสจะได้แบกของเลยแค่แบกชีวิตตัวเองให้รอดได้ถึงว่าโชคดีมากแล้ว

เอาละตอนไหม้จะทำอย่างไร

1. สติเพียงอย่างเดียวที่จะทำให้คุณรอดหรือไม่รอด
รู้มั้ยว่าปกติไฟจะพยายามลุกขึ้นไปข้างบน ควันจะลอยขึ้นด้านบน ทฤษฏีเอาผ้าชุบน้ำปิดจมูกจำให้ขึ้นใจ (แต่เวลาจริงก็ลืม) ควันไฟไหม้ที่สูดดมไปแสบมาก ที่ตายๆ กันไม่ใช่เพราะไฟครอกตายแต่จะตายเพราะหายใจไม่ออกก่อน วิ่งหนีลงชั้นล่างได้จริงหรือเปล่า ชั้นล่างมีทางออกจริงหรือเปล่าหรือวิ่งไปเจอทางตันเจอต้นเพลิง ถ้าหนีขึ้นชั้นบนจะหนีออกทางไหน คนตะโกนบอกให้โดดมีอะไรรองรับข้างล่างอยู่หรือเปล่า

ทุกอย่างสติเท่านั้นจริงๆ ถ้าเอาแต่ร้องไห้ เอาแต่กรี๊ดตกใจ มันไม่ช่วยให้คุณรอดชีวิตหรอก ของจริงไม่มีพระเอกแบบในหนังที่จะกระโจนมาช่วยคุณจากกองเพลิงเพราะเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเองก็ไม่กล้าวิ่งเข้าไปถ้าไฟกำลังลุก

2. ขนของหนีไฟ ถ้าไฟไม่ได้ไหม้แรงมีโอกาสขนได้ก็ยังนับเป็นเรื่องโชคดี ขนได้ขน... แต่ควรรู้เลยว่าขนออกมาไม่มีคนเฝ้า หาย... พวกซ้ำเติมคนเคราะห์มีเสมอ ถ้าไม่ขนออกมา... ไม่เสียหายเพราะไฟก็เสียเพราะน้ำดับเพลิง ตัดสินใจอย่างรวดเร็วแล้วเลือกว่าจะขนหรือไม่ขน

3. ตอนนี้พอไฟเริ่มดับ นักดับเพลิงจะมาทำพฤติกรรมให้เราช้ำใจ ช้ำใจอะไรหรือ? ของที่เราคิดว่าเราสุดถนอม เขาจะไม่เหลือความอ่อนโยนกับของเหล่านั้นอีกต่อไป ทั้งบาทาและอุปกรณ์ต่างๆ จากประตูสภาพดีๆ ก็ยับเยิน และของมีค่าเล็กๆ น้อยๆ ที่คิดว่าเขาจะไม่เอาไป มันจะหายไปแบบจับมือใครดมไม่ได้ อย่าคิดว่าเขาจะไม่รู้นะว่าเราเก็บของไว้ตรงไหน ไม่พ้นสายตาพวกเขาหรอก

4. เมื่อดับเพลิงมา ไทยมุงมากมายก็จะมาพูดถกเถียงอย่างเมามันราวกับอยู่ในเหตุการณ์ด้วย แถมคนกลุ่มนี้ยังชี้ตำแหน่งต่างๆ ในบ้านแม่นยำกว่าเจ้าของบ้านเสียอีก ดีไม่ดีบางรายราวกับเจ้าที่หรืออยู่ศาลพระภูมิในบ้านรู้ด้วยเพลิงเกิดขึ้นตอนไหนเวลาอะไร เริ่มไหม้อะไรก่อน ไหม้ยังไงไปติดอะไร อะไรเป็นสาเหตุเพลิงไหม้ มีคนตายกี่ศพคนเจ็บกี่ศพ

ซึ่งถ้าคุณมั่วไปโกรธพยายามอธิบายก็จะกลายเป็นคุณยิ่งไปให้ข้อมูลให้เขาต่อยอดพ่นน้ำลาย ดีไม่ดีทำให้คดีเปลี่ยนและเกิดพยานเท็จเพิ่ม รวมทั้งนักข่าวที่ฟังจากพยานไม่รู้จริงพวกนี้ไปเขียนข่าวต่ออย่างเมามัน เรื่องจริงข่าวที่ออกสำนักพิมพ์ทุกฉบับเกี่ยวกับบ้านข้าพเจ้าที่เพลิงไหม้ไม่มีฉบับไหนให้ข้อมูลถูกต้องเลย แถมรายการข่าวตอนเช้ารายการของนักข่าวดัง ส. ยังบอกว่าน้องสาวข้าพเจ้าตายเป็นศพแรกอีก - -“

จำให้ขึ้นใจต้นเพลิงผิดแน่นอนขึ้นอยู่ว่าจะผิดมากหรือผิดน้อยเท่านั้น ถ้าทำให้อารมณ์คุณพล่านมากกว่าเพลิงคุณอาจจะก่อคดีอื่นๆ เพิ่ม ซึ่งไม่เป็นผลดีกับคุณแน่ๆ




สิ่งที่ต้องทำหลังไฟไหม้บ้านซึ่งมีเยอะมากมายจนท้อ... ตั้งสติให้ได้ก่อน เพราะทุกอย่างที่จะเล่าต่อจากนี้ต้องทำพร้อมๆ กับตอนที่เขากำลังดับเพลิงอยู่


1. โทรหาญาติพี่น้องคนที่จะมาช่วยเราได้ เห็นหรือยังมือถือมีความสำคัญ แล้วคนที่ตามมาช่วยอะไรบ้าง? ช่วยเฝ้าของ ช่วยขนของ ช่วยตรวจเช็คสมาชิกในบ้าน ช่วยดูแลคนที่สูงอายุในบ้านเพราะเจ้าบ้านมักจะไม่ว่างยืนปลอบ ช่วยไปธุระบางเรื่องรวมถึงอาจช่วยขับรถไปที่ต่างๆ ให้เรา เพราะฉะนั้นเลือกคนที่จะโทรหาด้วย ถ้าเลือกคนที่เอาแต่ยืนเมาส์แตกกับไทยมุงไม่มีประโยชน์ที่จะเรียกมา

2. ส่งคนเจ็บส่งโรงพยาบาล


3. โทรหาบริษัทประกันบอกชื่อเจ้าบ้าน, ผู้ทำประกัน ถ้ามีบัตรหรือเอกสารอยู่ในมือจะยิ่งทำให้ประกันมาเร็วขึ้น

4. ถ้าเป็นเจ้าบ้านหรือคนที่เกี่ยวข้องโดยตรงต้องไป “แจ้งความ” ทันที เมื่อแจ้งความแล้วขอคัดลอกใบแจ้งความจากร้อยเวรอย่างน้อย 5-10 ใบ เพราะบริษัทประกันที่บ้านข้าพเจ้าทำอยู่ใช้ “ใบคัดลอกแจ้งความใบจริง” 2 ใบ และหน่วยงานบ้างหน่วยก็ต้องการใบจริงเท่านั้น ใบคัดลอกนี้ต้องใช้ตลอดเมื่อติดต่อเรื่องต่างๆ ถ้าไม่อยากไปสน. หลายรอบก็คัดลอกไว้หลายฉบับหน่อย

ใบคัดลอกใบแจ้งความใบจริงคืออะไร? มันคือใบรับเรื่องที่ร้อยเวรเขียนแล้วถ่ายเอกสารประทับตรายางสีน้ำเงินว่า “สำเนาถูกต้อง” ให้

5. ไปอำเภอหรือเขตขอใบรับรองการเกิดอัคคีภัย ใบรับรองการเกิดอัคคีภัยจะเป็นใบที่ไว้ขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ ได้มาแล้วเก็บไว้ให้ดีเพราะหน่วยงานทุกที่จะขอดูตัวจริงเท่านั้นใช้สำเนาไม่ได้และเขาจะคืนกลับมาให้เราทุกครั้ง

ถ้าไปอำเภอหรือเขตแล้ว ถ้าทะเบียนบ้าน, บัตรประชาชน, โฉนดที่ดินไหม้ไฟไปแล้ว ก็ทำเอกสาร 2 อย่างก่อนคือ คัดลอกสำเนาทะเบียนบ้าน, ทำบัตรประชาชนใหม่ 2 อย่างนี้ต้องใช้ติดต่อเรื่องต่างๆ เยอะมาก ต่อจากนี้จะทำใบรับรองคุณวุฒิต่างๆ , โฉนดที่ดิน ฯลฯ ก็ค่อยมาทยอยจัดการ

6. เห็นหรือยังว่าคุณต้องมีกระเป๋าใบหนึ่งเพื่อเก็บเอกสารซึ่งโคตะระเยอะมาก เอกสารที่กล่าวไปแล้วต้องใช้ตลอดหลังเกิดเพลิงไหม้ ซึ่งเอกสารพวกนี้เตรียมถ่ายเอกสารไว้ได้เลยไม่ต่ำกว่า 5-10 ชุด คือ ใบแจ้งความ, บัตรประชาชน, ใบรับรองทางเขตหรืออำเภอว่าเกิดอัคคีภัย, ทะเบียนบ้านหรือเอกสารคัดลอกทะเบียนบ้าน

ยังมีใบต่างๆ ที่จะตามมามากมายให้กรอกจากหน่วยงานรัฐและประกันภัย ถ้าที่บ้านมีเด็กเล็กในวัยเรียนหรือกำลังสมัครทำงานยังต้องมีใบรับรองวุฒิการศึกษา โฉนดที่ดิน สมุดบัญชีธนาคาร ฯลฯ เห็นหรือยังว่าเอกสารพวกนี้ถ้ากระจายในที่ต่างๆ เวลาเกิดเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดเรื่องวุ่นวายแน่ๆ

ถ้าไม่ไหม้ไม่หายได้ก็เป็นเรื่องดีแต่ถ้ามันวอดไปแล้วก็ต้องยื่นเรื่องขอทำใหม่ ซึ่งจะทำให้คุณท้อกับการติดต่อหน่วยงานทุกที่เลย

7. คราวนี้พอไฟดับแล้วหน่วยกู้ภัยและบรรเทาทุกข์ทั้งหลายจะเข้ามา เจ้าบ้านมีสติโดยเร็วไปรับเอกสารทุกอย่าง เซ็นๆๆๆ และเอาของช่วยเหลือมาให้หมดอย่าอาย ก่อนเซ็นอ่านด้วยว่าเขาให้อะไรบ้าง เพราะเซ็นอย่างเดียวจะเป็นแบบเจ้าบ้านของข้าพเจ้าคือเขาต้องให้ 3 ถุงได้ 1 ถุง - -“ มีคนสวมรอยรับของให้เรียบร้อย แถมหน่วยงานประปาแจกน้ำดื่มเขาจะเอามารวมไว้ที่เดียวถ้าคุณไม่ไปหยิบส่วนของคุณเองก็จะมีคนอื่นเก็บไปให้หมดเช่นกัน

หรือถ้าคุณร่ำรวยพอไม่จำเป็นต้องพึ่งหน่วยงานช่วยเหลือเหล่านี้คุณก็ไม่ต้องสนใจข้อนี้ก็ได้
หน่วยงานช่วยเหลือไม่ได้มีหน่วยเดียว เพราะฉะนั้นคุณต้องเซ็นเอกสารมากมายและจำให้ได้ด้วยว่าหน่วยไหนช่วยคุณแล้ว หน่วยไหนคุณต้องเดินทางไปขอความช่วยเหลือ

เมื่อได้ของช่วยเหลือมาแล้วคุณก็ต้องมีที่เก็บของหรือคนเฝ้าของ เห็นความสำคัญของคนที่พึ่งพาได้หรือยัง? ถ้าโทรให้คนที่ไม่ช่วยคุณมีแต่มายืนชมวิวและพ่นน้ำลายมาคุณจะต้องเหนื่อยเพิ่ม

8. คราวนี้ผู้ใหญ่ในท้องที่จะมา ขึ้นอยู่กับฝีปากว่าคุณจะทำให้เขาควักช่วยเหลือได้มั้ย แต่เจ้าบ้านของข้าพเจ้าขี้เกรงใจและไม่กล้าพูด ท่านผู้ใหญ่ท่านนั้นเลยมาเดินๆๆ ให้คนยกมือไหว้เฉยๆ แล้วก็กลับไป
มาทำไมพวกนักการเมืองเอาหน้าเอาคะแนนเสียง ตอนจะเลือกตั้งยกมือไหว้ชาวบ้านหงิกๆ ตอนชาวบ้านเดือดร้อนเดินชมวิวแล้วจากไป

9. คุณจะทำอะไรกับทรัพย์สินไม่ได้จนกว่าหน่วยพิสูจน์หลักฐานจะเข้ามาตรวจสอบบ้านของคุณ ยกเว้นของมีค่าถ้าแน่ใจว่าเพลิงดับสนิทแล้วบ้านโครงสร้างไม่เสียหายหรือเสี่ยงต่อการถล่มซ้ำอีกครั้ง ก็นำพวกของมีค่าออกมา

ย้ำเรื่องของมีค่าอย่าคิดว่าจะไม่มีคนซ้ำเติมคนที่ประสบภัย จากที่เจอมันมาจริงๆ ถ้าคิดว่าปล่อยไว้ก่อนเดี๋ยวค่อยหยิบ ภายในไม่กี่ชม. ตู้เซฟหรือทรัพย์สินที่ซ่อนมันจะถูกรื้อค้นนำไปจนหมด ยิ่งถ้าปล่อยให้ข้ามคืนแล้วอย่าหวังว่าจะมีเหลือ

แน่นอนของที่หายรวมทั้งเศษเหล็กในบ้านด้วย สิ่งที่ทำได้คืออะไร... ถ่ายรูปไว้ ถ่ายรูปสภาพบ้านหลังเพลิงสงบเท่าที่เราจะสามารถถ่ายไว้ได้ พวกนี้มีประโยชน์กับประกันแน่ๆ เพราะประกันไม่แน่ว่าจะเข้ามาตอนที่ทรัพย์สินยังอยู่ให้เห็นหรือเปล่า ถ้ามีรูปถ่ายยืนยันว่ามันเคยอยู่อย่างน้อยก็มีหลักฐานให้เถียงกับประกัน

10. พูดถึงเรื่องประกันจะหน้ามืด ถ่ายรูปเสร็จแล้วหยิบกระดาษขึ้นมาเขียนเลยว่าทรัพย์สินในบ้านเรามีอะไรบ้าง เล็กใหญ่เขียนให้หมดเขียนเครื่องใช้ไฟฟ้ารุ่นอะไร ราคาเท่าไร โต๊ะ เตียง ตู้ เก้าอี้ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ โทรทัศน์ เครื่องเสียง ลำโพง ไดร์เป่าผม ที่โกนหนวด พัดลม เครื่องซักผ้า เครื่องทำน้ำอุ่น ปั้มน้ำ เครื่องกรองน้ำ หม้อหุงข้าว ตู้เย็น ฯลฯ นึกอะไรได้เขียนให้หมดทำแผนผังได้ด้วยก็ดีว่าอะไรอยู่ตรงไหน ซ้อมทำตั้งแต่ตอนนี้เลยถึงเวลานั้นจะได้นึกออก

ซึ่งขอบอกว่า... เขาชดเชยไม่ถึงครึ่งของค่าสูงสุดของวงเงิน ฉะนั้นอย่าคาดหวังว่าเงินประกันจะเยอะหรือมาเร็ว (อย่างเร็วคือหนึ่งเดือนอย่างช้าคือสามเดือน) เพราะนอกจากทั้งเขี้ยวทั้งงกแล้งน้ำใจยังล้าช้ามากๆ อีกต่างหาก

พวกประกันมันไม่เชื่อรายการที่เราเขียนหรอก มันจะหักออกอย่างเดียว เขียนไป 100 รายการได้ไม่ถึง 10 รายการ แถมมันเอาราคารุ่นตอนนั้นมาคิดประเมินเป็นราคาตอนนี้ เช่น โทรทัศน์ 21 นิ้วตอนนั้นเราซื้อ 2x,xxx รุ่นเดียวกันถ้ามีตอนนี้ราคา 1,xxx มันก็จะจ่ายแค่ 1,xxx

แถมตอนนี้ที่บ้านเจอเริ่มมาพูดทำนองว่า “เราทำประกันโดยไม่ขอเจ้าของอาคารก่อนอีก” ซึ่งจะขอเถียงว่า “เจ้าของอาคารรู้เรื่อง” แล้วถ้าจะมาบอกว่าต้องให้เจ้าของอาคารรู้เรื่องก่อนทำไมมาบอกปีที่ 21 ของการต่ออายุสัญญาประกัน ทำไมไม่บอกตั้งแต่ปีแรกที่ทำประกัน

ไม่แปลกใจแล้วที่ทำไมเคยได้ยินว่าเจองูกับเจอคนขายประกันให้ตีคนขายประกันก่อน

11. เมื่อกองพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบเสร็จสิ้นก็จะทำเรื่องให้ผู้รับเรื่องจนถึงศาล คราวนี้ก็จะเกี่ยวกับคดีความที่ฟ้องร้องได้หรือไม่ได้ จะเรียกค่าชดเชยอย่างไร คดีความมีอายุเท่าไร เรื่องนี้อาจกินเวลาหลายสัปดาห์ซึ่งไม่พูดถึงขอให้ปรึกษาทนายความจะดีกว่า

12. เตรียมหาที่ซุกหัวนอนในคืนนั้นและคืนต่อๆ ไป จากนั้นต้องกลับมาเคลียร์ของอีกหลายรอบ รวมถึงวิ่งเรื่องเอกสารราชการและหน่วยงานช่วยเหลืออีกหลายรอบวางแผนดีๆ ว่าจะไปที่ไหนไปอย่างไร แต่ละหน่วยก็มีกำหนดว่าเหตุการณ์ไม่เกินกี่วันถึงจะให้ความช่วยเหลือ สำคัญเอกสารที่จะส่งประกันคิดให้รอบคอบเขียนให้ครบก่อนส่ง

13. ข้าวปลากินให้ได้ การพักผ่อนนอนให้หลับ อาการซึมเศร้าหลังเหตุการณ์ก็ตั้งสติให้ได้ ร้องไห้แล้วก็ฟื้นตัวให้เร็ว ขอให้คิดไว้เลย... ไฟไหม้ทุกวันนี้มาพร้อมหนี้ไม่ต่างจากพนันแล้ว เราเตรียมเจอกับหนี้สินก้อนใหญ่จาก ค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชย ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเน็ท ค่าจ้างวิศวะตรวจสอบอาคาร ค่าซ่อมแซมบ้าน ค่าช่าง ค่าขนขยะ ค่าคนงาน ค่าน้ำร้อนน้ำชา ค่าอุปกรณ์ทำกิน ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า ค่าของจำเป็น ค่าทนาย ฯลฯ มันไม่จบแค่ไหม้แล้วหมดเหมือนเมื่อก่อน 

14. ญาติมิตรเพื่อนสหาย ขอความช่วยเหลือเถอะหากเราไม่ไหวแล้วจริงๆ ตอนนี้ข้าพเจ้าอยู่ภาวะนี้เช่นกัน ขอบคุณเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่ช่วยเหลือข้าพเจ้า ข้าพเจ้าคงไม่มีอะไรจะตอบแทนพวกท่านได้นอกจากคำขอบคุณจากใจเท่านั้น

แต่ละคนก็เจอและแก้ปัญหาเหตุการณ์ไฟไหม้ไม่เหมือนกัน นี่คือสิ่งที่เขียนจากประสบการณ์ของข้าพเจ้า ซึ่งตอนนี้ข้าพเจ้าก็ยังไม่รู้ว่าคดีจะออกมาในรูปแบบไหน ประกันจะให้คืนได้เท่าไร จะมีอะไรเกิดขึ้นอีก เวลานี้คงได้แต่ “คิดถึงพรุ่งนี้ก็พอว่าต้องทำอะไร” เท่านั้น (ขอบคุณเพื่อนที่แนะนำวาทะคมๆ นี้ให้)
และสุดท้าย “อย่าคิดว่ามันจะไม่เกิดขึ้นกับตัวเอง”

ขอขอบคุณทุกท่านที่อ่านจนถึงบรรทัดนี้


รายชื่อหน่วยงาน, องค์การกุศลต่างๆ ที่สามารถขอรับความช่วยเหลือได้
กองบรรเทาทุกข์สภากาชาดไทย - ช่วยเหลือเสื้อผ้า ยา มุ้ง อาหารแห้ง
เบอร์ 0-2251-7853-6 ต่อ 303, 0-2652-5076-9 ต่อ 303

สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร - ช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน 2 เดือน เสื้อผ้า
เบอร์ 0-2246-0284, 0-2271-2159

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ - ช่วยเหลืออาหารแห้ง เครื่องครัว ชุดนักเรียน
เบอร์ 0-2281-1902, 0-2282-9596

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง - ช่วยเหลือ เงินสด ค่าจัดการศพ ข้าวสารอาหารแห้ง
เบอร์ 0-2225-32211-6, 0-2623-0545-54

มูลนิธิร่วมกตัญญู - ช่วยเหลือ อาหารแห้ง เครื่องใช้จำเป็น
เบอร์ 0-2249-4821

พุทธสัมพันธ์สมาคมแห่งประเทศไทย - ช่วยเหลือ อาหารแห้ง โลงศพ
เบอร์ 0-2428-2440-1

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย - ช่วยเหลือค่าเครื่องมือประกอบอาชีพ
สายด่วน 1784

กรมพัฒนาฯ และสวัสดิการสังคม (ติดต่อแต่ละเขต) - ปัจจุบันยังไม่ได้รับการติดต่อกลับ
เบอร์ ต้องสอบถามกับ 1133 พอขอเบอร์เขตที่ท่านอาศัยอยู่

ยังมีหน่วยงานและองค์การกุศลอื่นๆ ที่สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ เช่น ทางวัดสวนแก้วช่วยเหลือเครื่องเรือนมือสอง, สวัสดิการสังคมสำหรับท่านที่ทำเอาไว้ ฯลฯ


เบอร์อื่นๆ ที่ควรทราบ
เบอร์บริษัทประกันที่ท่านทำเอาไว้

เบอร์นายตำรวจผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบพิสูจน์หลักฐาน

คณะนิติศาสตร์จุฬาฯ - ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับข้อกฏหมายโดยนิสิตปริญญาโท
เบอร์ 0-2218-2066


สภาทนายความ - ให้คำปรัษาเกี่ยวกับข้อกฏหมายกับผู้ยากไร้
สายด่วน 1167

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น