วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2562

โฆษณาใหม่กับสโลแกนใหม่ "The best men can be" ของ Gillette ทำผู้ชายกริ้ว



เป็นที่น่าประหลาดใจและสร้างแรงกระเพื่อมมากในเมืองนอก (เข้าไทยมาหรือยังไม่แน่ใจ) กับคลิปโฆษณาชื่อ "We believe" ที่วิจารณ์ toxic masculinity (ความเป็นชายแบบผิดๆ เช่น ผู้ชายต้องเก็บกดไม่แสดงความรู้สึกถ้าร้องไห้แปลว่าตุ๊ด, ผู้ชายต้องเหยียดผู้หญิงเห็นแล้วหื่นอยากฉวยโอกาสทุกกรณี, ผู้ชายต้องก้าวร้าวใช้ความรุนแรง  ฯลฯ พูดง่ายๆ คือพฤติกรรมที่ผู้ชายบางกลุ่มคิดว่า "เท่" แต่จริงๆ คือ "ถ่อย") 



ที่ว่าน่าประหลาดใจเพราะ Gillette ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่คู่กับผู้ชายและทำการตลาดเอาใจผู้ชายมาตลอดยาวนานมาหลายสิบปีมาวันนี้กลับยอมเปลี่ยนสโลแกนที่ใช้มานานจาก "The best a man can get" ("สิ่งที่ดีสำหรับผู้ชาย" ในภาคไทย) เป็น "The best men can be" (สิ่งที่ดีที่ผู้ชายควรเป็น) 


สปอตตัวนี้ Gillette ได้แรงบันดาลใจจาก #MeToo เห็นได้จากต้นคลิปมีพูดถึง #MeToo และมีแทรกคลิปที่ Terry Crew พูดตอนสนับสนุนร่างกฏหมายสิทธิผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศต่อหน้าสภาว่า "Men need to hold other men accountable." (ผู้ชายจะต้องรับผิดชอบผู้ชายด้วยกัน)

โฆษณาสื่อถึงเด็กชายที่ตัวเล็กกว่ากลุ่มเพื่อน ไม่ชอบความรุนแรง ไม่ชอบกิจกรรมกลางแจ้ง จะถูกเพื่อนดูถูกด่าประจานในช่องทางต่างๆ และไม่ให้เข้ากลุ่มเพราะไม่มีความเป็น "ผู้ชาย"


เนื้อหาโดยรวมในคลิปแสดงให้เห็นการปฏิบัติตัวแบบผู้ชายที่ดีควรจะเป็นและไม่เมินเฉยต่อพฤติกรรม toxic masculinity แบบต่างๆ ของผู้ชายด้วยกัน ไม่ใช้ข้ออ้างว่า "ผู้ชายก็เป็นแบบนี้" ในการทำพฤติกรรมแย่ๆ โดยแสดงออกในคลิปผ่านการห้ามกลุ่มเด็กหนุ่มรุมรังแกคนอ่อนแอหรือการหยุดชายที่ตามคุกคามผู้หญิงเพื่อเป็นตัวอย่างแก่เด็กชายที่จะเติบโตเป็นชายหนุ่มที่ดีต่อไป



โฆษณาสื่อถึงการละล่วงละเมิด คุกคามทางเพศถูกปลุกฝังตั้งแต่เด็กในสื่อการ์ตูน ละครโทรทัศน์ และสร้างค่านิยมให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่กระทำได้ เป็นเรื่องขบขัน ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องให้เกียรติผู้หญิง การที่ผู้ชายแสดงออกทางเพศเช่นนี้แสดงความเป็น "ผู้ชาย"


เสียงตอบรับจากคนทั่วไปมีแตกออกเป็น 2 ฝั่งคือฝั่งที่ชอบและสนับสนุนที่ Gillette กล้าออกมาแสดงจุดยืนต้านพฤติกรรมแย่ๆ ของชายบางกลุ่มที่ชักจะเกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้นพร้อมทั้งส่งเสริมผู้ชายให้คิดดีทำดี 

โฆษณาสื่อถึงการปิดโอกาสในการแสดงความคิดเห็นในห้องประชุมเพราะเป็น "ผู้หญิง" ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมไม่ให้ความสำคัญละเลยมานานเกินถูกมองเหมือน "ความคิดของผู้หญิงเป็นความคิดที่ไม่มีความสำคัญและสาระจะต้องใส่ใจ"


และกลุ่มที่ต่อต้านซึ่งเป็นผู้ชายกลุ่มต่างๆ ทั้งที่เป็นรายบุคคล องค์กรสิทธิบุรุษหรือกลุ่ม male supremacy (กลุ่มที่เชื่อว่าผู้ชายสูงส่งกว่าผู้หญิง) อย่าง A Voice for Men ออกมารณรงค์ให้ผู้ชายบอยคอต Gillette และโจมตี Gillette อย่างแรงว่า "Gillette คงอยากให้เราเอามีดโกนของมันเจี๋ยนกระแป๋งเราทิ้ง" "ชัดเจนแล้วว่า Gillette ไม่อยากค้าขายกับผู้ชายงั้นเราจะสนองให้" "โจมตีความเป็นชายก็เท่ากับโจมตีผู้ชาย ลาขาด" "หน้าที่แกคือขายมีดโกนไม่ใช่มาสอนตูว่าต้องเป็นผู้ชายยังไง" "แกกำลังจะเป็นศัตรูกับผู้ชายทั้งโลก" "เข้าข้างผู้หญิงมากก็เตรียมล้มละลายเหอะ" "ทำโฆษณาแบบนี้ก็เท่ากับด่าผู้ชายทุกคนว่าเป็นโจรข่มขืน ผู้หญิงแย่ๆ ก็มีทำไมไม่ทำโฆษณาด่าผู้หญิงบ้าง" ฯลฯ และมีหลายคนเรียกร้องให้ Gillette ทำคลิปขอโทษ 

โฆษณาสื่อถึงการตอบสนองของบรรดา "พ่อ" ที่เห็นเด็กชาย 2 คนเลือกการชกต่อยเป็นการแก้ปัญหาซึ่ง "พ่อเหล่านี้" เพิกเฉยไม่ห้ามปรามเพราะคิดว่าการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงเป็นการแสดงออกของ "ลูกผู้ชาย"


มีผู้หญิงบางคนที่ออกมาโกรธเหมือนกันว่า "Gillette ด่าผู้ชายแบบนี้ไม่เคารพผู้ชายเลยฉันให้เกียรติพ่อ พี่ชาย ลูกชายเสมออย่ามาว่าพวกเขาเลวนะ" "ถ้าผู้ชายไม่ทำตัวแบบผู้ชายแล้วจะให้ตุ้งติ้งเป็นผู้หญิงรึไง" "ถ้าไม่ให้ผู้ชายเจ้าชู้ก็เท่ากับบังคับให้เป็นตุ๊ดแล้ว" ฯลฯ แต่มีจำนวนไม่เยอะเท่าไรและออกแนวด่า Gillette เพื่อเรียกความสนใจและอยากได้รับการยอมรับจากผู้ชายมากกว่า 

มีผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ชายหลายแบรนด์พยายามใช้โอกาสนี้ขยายตลาดของตัวเองโดยชูจุดขายว่า "แบรนด์เราเข้าใจผู้ชายดีและจะไม่พยายามเปลี่ยนผู้ชายให้เป็นผู้หญิง" 
โฆษณาสื่อถึงแทนที่เพื่อนจะเห็นดีเห็นชอบกับพฤติกรรมที่ผิวปากคุกคามผู้หญิงกลับกล้าตัดสินใจเข้าไปห้ามเพื่อหยุดการทำร้ายของผู้ชายที่คิดว่าการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องที่ผู้ชายสามารถทำได้


ตอนนี้ Gillette ยังไม่มีทีท่าว่าจะถอดคลิปนี้ออกจาก Youtube นักโฆษณาวิเคราะห์ว่า Gillette ออกคลิปนี้มาคงประเมินไว้แล้วว่าจะต้องสร้างความประหลาดใจให้กับคนในสังคมและเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ขึ้น น่าสังเกตว่าในขณะที่ชายหลายกลุ่มออกมาต่อต้าน Gillette กล่าวหาว่าโจมตีผู้ชายและเป็นโฆษณาชวนเชื่อของ Feminism 

แต่ก็มีชายหลายคนที่ชอบคลิปนี้และชื่นชมว่าเข้าใจปัญหาและสื่อสารออกมาได้ดีซึ่งหัวข้อ toxic masculinity เป็นเรื่องที่สมควรถูกหยิบยกมาพูดถึงนานแล้ว และแม้พวกเขาจะเป็นชายแต่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมผู้ชายคนอื่นถึงรับไม่ได้และโกรธเกรี้ยวกับการที่ Gillette ออกคลิปวิจารณ์พฤติกรรมแย่ๆ ของผู้ชายบางกลุ่มและสนับสนุนให้คนทำดีทั้งที่ในคลิปก็บอกอยู่ว่าผู้ชายดีๆ ก็มีไม่ได้เหมารวมว่าผู้ชายทุกคนเป็นคนแย่ๆ สักหน่อย บ้างก็ว่ากลุ่มที่ออกมาโกรธแค้นคือกลุ่มชายที่มีพฤติกรรมแย่ๆ แบบในคลิป Gillette ที่ออกมาร้อนตัว

โฆษณาสื่อถึงคุณพ่อคนหนึ่งตัดสินใจเข้าไปห้ามและชี้แจงให้เด็ก 2 คนรู้ถึงเหตุผล ในขณะที่พ่อคนอื่นแสดงความไม่พอใจ แต่มีเด็กที่เฝ้ามองพฤติกรรมของคุณพ่อที่กล้าเข้าไปห้ามนั้นและมองเห็นแบบอย่างที่เขาเลือกจะทำให้อนาคต

สำหรับผู้เขียนนี่เป็นอีกปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจและสะท้อนให้เห็นว่า toxic masculinity ยังคงฝังรากลึกในสังคมซึ่งผู้ชายและผู้หญิงบางส่วนยังคงหวงแหนมันราวกับเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นชายที่ตัดออกไม่ได้และใครที่กล้าวิจารณ์พฤติกรรมแย่ๆ ก็จะโดนมองว่าเป็นศัตรูของผู้ชายไปด้วยในขณะที่สังคมมีการวิพากษ์วิจารณ์ผู้หญิงอยู่ตลอดเวลาโดยไม่มีปัญหาอะไร หาก Gillette 


มีเจตนาดีในการปลุกกระแสสังคมให้ตื่นตัวจริงผู้เขียนก็ขอเอาใจช่วยและคงต้องจับตามองว่า Gillette จะยังคงจุดยืน "The best men can be" นี้ต่อหรือจะชักกลับ แต่เท่าที่ประเมินชักกลับตอนนี้จะมีแต่เสียและจะเสียนานด้วยเพราะกลุ่มผู้หญิงและผู้ชายหลายกลุ่มจากที่เชียร์จะชังและกลุ่มผู้ชายที่ชังก็จะสะใจแต่ไม่มีอะไรรับประกันว่าเขาจะกลับมา 


อ้างอิงจาก
https://www.bbc.com/news/newsbeat-46874617
https://www.gq.com/story/gillette-commercial-preposterous-backlash
https://www.cnbc.com/2019/01/15/gillette-draws-fire-for-metoo-commercial.html
https://www.bloomberg.com/news/articles/2019-01-15/gillette-masculinity-ad-draws-activist-praise-right-wing-ire
(คลิปเต็ม) https://www.youtube.com/watch?v=koPmuEyP3a0
(คลิปสั้น) https://www.youtube.com/watch?v=IPPf3sZIo-Q

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น