บทสรุปของ Youth with You SS2 และการเริ่มต้นของวง The Nine : ควันหลง ความประทับใจและสิ่งที่ได้จากรายการ
หมายเหตุ - บทความนี้เปิดเผยถึงผลการแข่งขันในรายการ YWY ss2
logo วง The Nine
หลังผู้เขียนได้นั่งดูถ่ายทอดสดการประกาศผลจนจบ ดูฟีดแบคคร่าวๆ จาก sns แล้วรอให้ความคิดกับอารมณ์ต่างๆ ตกตะกอนจึงค่อยเรียบเรียงออกมาเป็นบทความที่ทุกท่านกำลังอ่านอยู่
บทความก่อนหน้าที่เขียนถึง Xin Liu, Liu YuXin (หลิวอวี่ซิน) ผู้เขียนได้เล่าคร่าวๆ ไปว่าตอนที่ดูใหม่ๆ ไม่ได้เชียร์หลิวอวี่ซินแต่แรก ไหนๆ รายการ Youth with You SS2 (YWY SS2) ได้จบลงแล้วจึงขอแสดงความคิดเห็นสรุปจากการติดตามมาตลอด 4 เดือน
ต้องยอมรับว่าเด็กสาวส่วนใหญ่ในรายการมีเอกลักษณ์และความเป็นตัวของตัวเองสูง พอเริ่มจำหน้าจำชื่อและรู้จักนิสัยใจคอของแต่ละคนตอนที่ดูพวกเธอทำกิจกรรมร่วมกันจะรู้สึกสนุกมาก
นอกจากหลิวอวี่ซินที่เป็นเมน ผู้เขียนยังชอบเด็กสาวอีกหลายคนในรายการนี้ เช่น จางอวี่กับหวังชิง (ประธานหัวแอฟโฟรกับเลขาคู่หูคู่ฮา-ตอนดูการแสดงรอบแรกกะว่าจะเมนคนนี้ก่อนที่จะเปลี่ยนใจเป็นเมนหลิว), ซ่างกวนสีอ้าย (พี่สาวเปรี้ยวหัวเกรียนอารมณ์ดี), หน่ายว่าน (สาวแร็ปหน้านิ่ง), เซี่ยเข่อหยิน (สาวร็อกจอมรั่ว), หลินฝาน (เด็กสาว boyish สายแร็ปสูงยาวเข่าดีแต่ดวงไม่ดีได้แสดงแต่เพลงมุ้งมิ้งตลอด), ยวี่เหยียน (สาวโหดหน่วยรบพิเศษ), เจิงเข่อนี่ (สาวหุ่นนางแบบขี้แย), เฉินเจว๋ (มู่หลานขวานผ่าซาก), สวี่เจียฉี (สาว SNH48 ที่ไว้ผมบ็อบแล้วดูเท่มาก), อันฉี (สาวตัวเล็กพริกขี้หนู), ฟู่หรูเฉียว (สาวนักแต่งเพลงเสียงดี), ต้วนเสี้ยวเหว่ย (สาวนางแบบริมฝีปากเซ็กซี่สุดๆ) และทีม Miss You 3000 ทั้ง A และ B เจ้าของเรื่องดราม่าที่สร้างการเปลี่ยนอันดับครั้งใหญ่
20 คนสุดท้าย ถ่ายแบบให้ BAZAAR
เคยบ่นๆ ไปในเฟสว่าไม่พอใจผลรอบ 20 คนเท่าไร เพราะส่วนตัวยังอยากเห็นการแสดงของจางอวี่, เฉินเจว๋, ฟู่หรูเฉียว กับหลินฝานอีก แต่เพราะรายการนี้ตัดสินจากผลการโหวตล้วนๆ ทำให้พวกเธอต้องตกรอบเพราะฐานแฟนไม่มากพอ แม้จะรู้สึกขัดใจที่คนมีความสามารถต้องตกรอบไปแต่ผู้เขียนก็ยังติดตามรายการอยู่เพื่อรอดูบทสรุป
จนกระทั่งมาถึงตอนสุดท้าย วันที่ 30 พ.ค. 63 คืนที่มีการประกาศรายชื่อเด็กฝึก 9 คน (Top 9) ที่จะได้เดบิวต์เป็นสมาชิกวง Chinese girl group วงใหม่ที่ชื่อ “The Nine” เด็กฝึกทั้ง 9 คนที่ได้เดบิวต์ตามลำดับคะแนนประกอบด้วย
9 คนสุดท้ายที่ผ่านเดบิวต์
1.หลิวยหวี่ซิน* (Xin Liu, Liu YuXin) ได้คะแนนสูงสุดและเป็นเซนเตอร์ของวง (*ตัวสะกดตามซับของ iqiyi )
2.ยหวีซูซิน (Esther Yu)
3.สวี่เจียฉี (Kiki Xu)
4.ยวี่เหยียน (Yan Yu)
5.เซี่ยเข่อหยิน (Shaking)
6.อันฉี (Babymonster An)
7.จ้าวเสี่ยวถัง (Xiaotang Zhao)
8.ข่งเสว่เอ๋อร์ (Snow Kong)
9.ลู่คือหราน (Klu, Lu Keran)
ส่วนตัวไม่ค่อยแปลกใจกับรายชื่อเด็ก Top 9 เท่าไรเพราะอันดับรอบท้ายๆ ค่อนข้างจะนิ่งแล้ว แต่แอบเสียดายว่าเด็กฝึกที่มีความสามารถมีเยอะมากแต่เก้าอี้ดันมีแค่ 9 ตำแหน่ง (เสียดายซ่างกวนสีอ้ายกับหน่ายว่านมาก เพราะ 2 คนนี้เท่และเก่งจริงๆ จนอยากให้เก้าอี้เพิ่มอีก 2 เป็น 11 ไปเลย)
ลู่คือหรานพูดขอบคุณหลังประกาศผล
จะมีเซอร์ไพรซ์ก็ตรงที่ ลู่คือหราน (K lu, Lu Keran) เด็กสาว boyish อีกคนในรายการถูกแฟนคลับกระหน่ำอัดโหวตรวดเดียวจบดันจากอันดับ 14 รอบที่แล้วทะลุพรวดขึ้นมานั่งเก้าอี้อันดับ 9 ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายของ Top 9 ได้สำเร็จชนะตัวเก็งหลายคนจากรอบที่ผ่านๆ มาได้ชนิดหักปากกาเซียน (อันนี้ต้องขอชมทั้งตัวลู่คือหรานที่ใจสู้ ขยันและมีพัฒนาการที่เด่นชัดมากในช่วงหลังๆ และเหล่าแฟนคลับที่ไม่ท้อทั้งที่มีข่าวลือข่าวปล่อยและกระแสโจมตีตัดกำลังใจเป็นระยะ ทำให้ผู้เขียนเริ่มปักหลักเชียร์ลู่คือหรานตั้งแต่เพลง No Company จนมาถึงตอนนี้)
ทันทีที่ PD ช่ายสวีคุนประกาศว่าลู่คือหรานได้ตำแหน่งที่ 9 แท็ก #ot8 ตามด้วย #ot7 ก็เริ่มกระจายตาม sns ที่มีการพูดคุยเกี่ยวกับรายการนี้ทันที
*แท็ก #ot ตามด้วยตัวเลขหมายถึง “one true…” นัยคือยอมรับจำนวนแค่ที่ระบุว่าคือตัวจริงที่เหลือไม่ยอมรับ
เด็กฝึก 9 คนยืนหน้าเก้าอี้ตำแหน่งของตนเอง
บ้างก็เกิดจากความไม่พอใจที่เด็กสาวที่ตัวเองเชียร์ไม่ติด Top 9 บ้างก็บอกว่ารู้สึกว่าเด็กสาวคนอื่นสมควรได้ตำแหน่งนั้นมากกว่า และสุดท้ายไม่พอใจที่เด็กสาว boyish อย่างลู่คือหรานได้ร่วมวงทั้งที่มีเด็กสาว boyish อีกคนอย่างหลิวอวี่ซินอยู่ในวงอยู่แล้ว บางคนถึงกับพูดว่า “มีคนผมสั้นในวงคนเดียวยังพอรับได้ ถ้ามี 2 คนมันมากไปรับไม่ได้” หรือ “วงอะไรไม่ง้อลูกค้าผู้ชายเลย” หรือ “นี่มันวง gg หรือ bb กันแน่มีผู้ชายตั้ง 2 คน”
ส่วนตัวผู้เขียนก็คาดเอาไว้แล้วตั้งแต่รู้ผลว่ามันต้องมีดราม่าตามแน่ๆ ทั้งเรื่องไม่พอใจที่เด็กฝึกที่ตัวเองเชียร์ไม่ติดและเรื่องเหยียดเพศ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าใครก็ตามที่ใช้แท็ก #ot เพราะคนที่ตัวเองเชียร์ไม่ติดอันดับ 9 คนคือคนที่ไม่มีน้ำใจนักกีฬา ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ของตนเองและไม่ยินดีกับชัยชนะของผู้อื่น เด็กฝึกทั้งหมดที่สามารถผ่านเข้ารอบ 20 คนมาได้ล้วนผ่านการฝึกหนักทั้งยังประสบกับความกดดันมาตลอด 5 เดือนและมีพัฒนาการขึ้นทุกคนซึ่งในสายตาผู้เขียนถึงจุดนั้นไม่ว่าใครใน 20 คนนี้ก็มีคุณสมบัติที่จะเข้า Top 9 ไม่ว่าใครจะได้เดบิวต์ก็ไม่แปลกเลย
การโหวตมีผลให้เด็กฝึกที่ชนะโหวตจะได้รับงานเป็นพรีเซนเตอร์สินค้าต่างๆ
แต่ตามกติกาการจะเข้า 9 คนสุดท้ายขึ้นอยู่กับคะแนนโหวตจากผู้สนับสนุนล้วนๆ ซึ่งตามที่ได้ข้อมูลมาทางรายการก็ได้จ้างบริษัท outsource จากข้างนอกมาช่วยเก็บคะแนนให้ไม่มีการหมกเม็ดทำเองแบบรายการอื่น หากผู้สนับสนุนโหวตให้กับเด็กฝึกคนใดมากเด็กฝึกคนนั้นก็จะชนะ แต่ถ้าเด็กฝึกคนใดได้รับคะแนนโหวตไม่มากพอก็แพ้อันดับการโหวตที่ออกมาเกิดจากความทุ่มเทของผู้สนับสนุนเด็กฝึกโดยตรง การที่ผู้ใช้แท็ก #ot โทษว่าความผิดหวังของตัวเองเป็นความผิดของเด็กฝึกจึงเป็นการขี้แพ้ชวนตี
แต่ถ้าใครสักคนใช้แท็ก #ot เพราะไม่พอใจว่า 2 ใน 9 คนของว่าที่วง gg นี้เป็นเด็กสาวสไตล์ boyish โดยอ้างว่า “girl group ต้องเป็นผู้หญิงไว้ผมยาว แต่งหน้า ใส่กระโปรงเท่านั้น” นั่นก็คือพวกเขาแสดงตัวออกมาแล้วว่า "กำลังเหยียดเพศ"เพราะจุดยืนของรายการ YWY SS2 นี้ทั้ง PD ช่ายสวีคุนและเมนเทอร์เอลล่าก็ประกาศตั้งแต่ต้นว่าคือ “X” ซึ่งหมายถึงความไร้ขีดจำกัดของ gg
สัญลักษณ์ X ตัวแทนของคอนเซปรายการ YWY2
การสนับสนุนดารา นักร้องหรือสื่อบันเทิงขึ้นอยู่กับความพอใจส่วนบุคคล ซึ่งดารา นักร้องหรือสื่อบันเทิงก็มีหลากหลายและเป็นไปไม่ได้ที่จะถูกใจทุกคน จึงเป็นเรื่องปกติที่แต่ละคนจะเลือกเสพตามรสนิยม ถ้าไม่ชอบอะไร ผู้ที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ก็แค่ไม่สนใจหรือปล่อยข้ามแล้วไปหาสิ่งที่ชอบ การปักหลักโจมตีดารา นักร้องหรือสื่อบันเทิง (ในกรณีนี้คือเด็กฝึก) ที่ตัวเองไม่ชอบเพียงเพราะเธอไม่ใช่ผู้หญิงตามแบบที่ตัวเองชอบ หรือพยายามเปลี่ยนเธอให้เป็นไปตามแบบที่ตัวเองชอบ นั่นคือการเหยียดเพศและเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางโดยไม่คำนึงว่าอีกฝ่ายก็เป็นคนที่มีชีวิตจิตใจเช่นกัน
การสนับสนุนผู้หญิงเฉพาะคนที่สวย เซ็กซี่ หุ่นดีหรือมีคุณลักษณะที่ตัวเองพึงพอใจและปฏิเสธหรือโจมตีผู้หญิงที่มีรูปร่างหน้าตาหรือมีคุณลักษณะที่ตัวเองไม่พึงพอใจ เช่น ตัวเตี้ย อ้วน ผมสั้น หน้าไม่สวย ห้าวเกินไป ดำเกินไป แมนเกินไป ฯลฯ ราวกับมันเป็นข้อเสียร้ายแรงโดยไม่ดูที่คุณสมบัติด้านอื่นไม่นับเป็นการ “สนับสนุนเพศหญิง”
เพราะนั่นเป็นการเห็นว่าผู้หญิงที่มีคุณค่า ต้องเป็นผู้หญิงที่มีบทบาทเป็นแค่วัตถุทางเพศอย่างเดียว ตามแบบที่สังคม (ผู้ชายหรือผู้หญิงที่เหยียดเพศ) และตีตราผู้หญิงแบบอื่นที่ไม่อยู่ในกรอบไม่นับเป็นผู้หญิงและสมควรถูกลงโทษหรือคว่ำบาตรไม่คบค้า
หลิวอวี่ซินเด็กฝึกผู้มีสไตล์ boyish ที่ได้รับคะแนนโหวตมากที่สุด
คนที่เหยียดเพศมักจะมองผู้หญิงที่ไม่สามารถกระตุ้นความพึงพอใจทางอารมณ์ให้กับเขาทางใดทางหนึ่งว่า ไร้ประโยชน์และไม่สมควรมีอยู่ เช่นผู้ที่ใช้แท็ก #ot ระบายความเกลียดชังใส่เด็กสาว boyish ทั้ง 2 คนใน Top 9 ตอนนี้
แต่เอาเถอะ ไม่ว่าใครจะทำอะไรก็ไม่มีทางจะทำให้ทุกคนชอบได้หมดอยู่แล้ว มีคนชอบก็ต้องมีกระแสแอนตี้ ผลลัพธ์ Top 9 ออกมาเช่นนี้ก็ต้องยอมรับและปล่อยให้เวลากับผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเด็กฝึกทั้ง 9 จะสามารถยืนหยัดในวงการ gg ร่วมกับ gg ตามสูตรวงอื่นๆ ได้หรือไม่
ลิซ่า Blackpink มาเป็นแดนซ์เมนเทอร์ในรายการ
มาถึงตอนนี้ผู้เขียนสรุปได้ว่า รายการ YWY SS2 นี้ประสบความสำเร็จมีความนิยมที่เรียกว่าดังระดับโลก การดึงตัว LISA มาร่วมรายการถือว่าคุ้มเกินคุ้ม (และตอนนี้ผู้เขียนก็ถูก LISA ตกเป็นที่เรียบร้อย) และประสบความสำเร็จในด้านการคุมคอนเซปต์ให้ “X” หรือความเป็นไปได้ไม่มีขีดจำกัดซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของรายการได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้รายการนี้ก็เป็นรายการที่เริ่มด้วย LISA แล้วจบลงที่โดนเด็กฝึก
ผู้เขียนประทับใจมากเพราะมันเปลี่ยนภาพพจน์ของรายการเรียลริตี้สายบันเทิงในสายตาผู้เขียนไปเลย อย่างที่กล่าวไปในบทความที่แล้วว่าไม่ดูรายการพวกนี้เพราะเคยลองดูของไทยหลายรายการแล้วรู้สึกไม่ชอบที่ทัศนคติ การเน้นดราม่าความอิจฉาริษยาหรือไม่ก็เรื่องชู้สาวมากไป
ทัศนคติของเพศหญิงและที่มีต่อเพศหญิงในรายการนี้เป็นแง่บวกมากคือส่งเสริมให้เด็กสาวทำทุกอย่างให้เต็มที่ แม้จะต้องแข่งขันกันแต่ก็มีมิตรภาพและให้กำลังใจให้กันและกันโดยตลอด ไม่มองเป็นศัตรูอิจฉาริษยาเมื่อเห็นใครได้ดีกว่า และที่ผู้เขียนชอบที่สุดคือตลอดรายการแทบจะไม่พูดเรื่องการบังคับลดน้ำหนักเลย
ในรายการมีกิจกรรมกินเลี้ยงในกลุ่มเด็กฝึก
และมีข่าวซุบซิบให้แฟนคลับขำๆ ว่าเด็กฝึกที่เชียร์มีการกินอยู่อย่างไร
ความสูงเฉลี่ยของเด็กสาวในรายการค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับไอดอลหญิงทั่วไป (ส่วนใหญ่สูงเกิน 165 สูงที่สุด 176) เพราะปัจจุบันปัญหาของเด็กสาวทั่วโลกคือการรับทัศนคติผิดๆ จากสื่อจนทำให้ความภูมิใจในร่างกายตัวเองต่ำ นำไปสู่การลดน้ำหนักและอดอาหารจนร่างกายได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน ทำให้ร่างกายและสมองเติบโตไม่เต็มที่มีโรคภัยทั้งทายกายและทางจิตต่างๆ ตามมามากมาย การที่ทางรายการให้เห็นภาพเด็กฝึกที่ไม่เน้นลดน้ำหนักและกินอาหารอย่างมีความสุขจึงถือเป็นกุศโลบายในการช่วยแก้ปัญหาการลดน้ำหนักในกลุ่มเด็กผู้หญิงทางหนึ่ง
นอกจากนี้รายการนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความยากลำบากของเด็กฝึกทุกคนในการทุ่มเทฝึกซ้อม, แสดงให้เห็นแง่มุมอื่นของผู้หญิงที่ไม่ใช่มีแค่แต่งหน้าทาปากใส่กระโปรงทำตัวสวยงามเรียบร้อยน่ารัก, แสดงให้เห็นว่าเป็น girl group ก็ไม่จำเป็นจะต้องทำตัวนุ่มนิ่ม แอ๊บแบ๊วน่ารัก บีบเสียงเล็กเสียงน้อย เต้นบิดสะโพก หรือทำตัวเซ็กซี่ยั่วยวนตามสูตรเสมอไปและแสดงให้เห็นว่า girl group ก็สามารถเต้นแรงๆ อย่างวง boy band และร้องเพลงที่ใช้พลังเสียงได้เช่นกัน
แขกรับเชิญหลีหยูชุน
ขณะดูถ่ายทอดสดตอนหนึ่งที่ประทับใจผู้เขียนคือตอนที่ทางรายการเชิญหลีหยูชุน (Chris Lee) นักร้องนักแต่งเพลงที่มีลุคเท่ๆ ชื่อดังคนหนึ่งของจีนมาร้องเพลง For Every Girls ราวกับจะส่งสารให้เหล่าเด็กฝึกทั้งหมดที่อยู่ที่นั่นและเด็กสาวทั้งหลายที่กำลังดูอยู่กล้าทำในสิ่งที่อยากทำ กล้าไขว่คว้าในสิ่งที่อยากได้ และกล้าเป็นในสิ่งที่อยากเป็น
มีช่วงหนึ่งระหว่างร้องเพลงเธอเข้าไปยืนร่วมแถวกับเหล่าเด็กฝึกแล้วหันไปทางหลิวอวี่ซินสบตาแล้วหลิวอวี่ซินพยักหน้ารับ หากให้คิดแบบโรแมนติคก็คือเหมือนเธอจะบอกกับหลิวอวี่ซินว่า “สักวันเธออาจทำได้แบบฉัน เป็นผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จในแบบของตัวเอง” จากการสืบค้นคร่าวๆ ผู้เขียนพบว่าหลีหยูชุนก็เคยเป็นผู้ชนะการประกวดร้องเพลงเมื่อ 15 ปีก่อนเช่นกันและที่น่าขำปนเศร้าคือตอนนั้นเธอก็โดนคนทั่วไปโจมตีเรื่องที่ “ไม่ดูเป็นผู้หญิง” แบบเดียวกับที่หลิวอวี่ซินกับลู่คือหรานโดนโจมตีในตอนนี้
ซึ่งหมายความว่า 15 ปีผ่านไปสังคมในวงกว้างก็ยังมีคนเหยียดเพศอยู่ไม่เปลี่ยนเลย
หากนี่เป็นสารที่ทางรายการจงใจสื่อออกไปให้กับเหล่าเด็กสาวที่กำลังดูอยู่ ผู้เขียนขอปรบมือให้และขอยกย่องว่าพวกคุณช่างส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงและหัวก้าวหน้ากว่าหลายประเทศอารยะเสียอีก ส่วนตัวอยากให้ในไทยมีสื่อที่ดีที่เผยแพร่ทัศนคติดีๆ แก่เหล่าเด็กสาวเช่นนี้บ้าง แต่คงจะฝันมากไปในเมื่อแค่ขอให้สื่อไทยเลิกยัดบท "เปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ", สนับสนุนการข่มขืน, เหยียดผู้หญิง, เหยียด LGBT ยังเป็นไปไม่ได้เลย
การสนับสนุนเด็กฝึกรูปแบบต่างๆ
นอกจากเหล่าเด็กฝึก เหล่าเมนเทอร์และสตาฟ ผู้เขียนยังขอยกนิ้วให้กับผู้สนับสนุนของเด็กฝึกทุกคนที่ทุ่มเทกันมาก นอกจากการทุ่มโหวตให้เหล่าเด็กฝึกเลื่อนอันดับแล้ว ยังมีการจัดทำทั้งป้ายเชียร์, เช่าป้ายข้างรถโดยสาร, เช่าป้ายไฟบนอาคารสูงขนาดใหญ่ในเมืองใหญ่ๆ ของจีนเพื่อให้กำลังใจและประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักเด็กฝึกเพิ่มขึ้น, การทุ่มซื้อผลิตภัณฑ์ของสปอนเซอร์เพื่อเพิ่มโอกาสให้เด็กฝึกที่สนับสนุนได้เป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาสินค้าต่างๆ ดูจากยอดเงินที่กลุ่มสนับสนุนเด็กฝึกต่างๆ ประกาศออกมาทำให้ผู้เขียนเปิดโลกว่าธุรกิจสายนี้มีเม็ดเงินและผลประโยชน์หมุนเวียนอยู่มหาศาลจริงๆ
การแข่งขันจบแล้วแต่มิตรภาพยังคงดำเนินต่อไป
สุดท้าย ผู้เขียนขอสนับสนุนให้ผู้หญิงทุกคนกล้าคิดกล้าทำและกล้าเป็นตัวของตัวเอง (ในทางที่ดีและไม่ทำร้ายตัวเองหรือเบียดเบียนผู้อื่น) ไม่ต้องให้คนอื่นมาตีกรอบความคิดหรือชีวิตของเรา ไม่ต้องไปสนใจสายตาและความคิดเห็นของใคร ก้าวไปข้างหน้าเพื่อพิสูจน์ตนเอง รักตนเอง ให้เกียรติตนเอง แล้วไม่ว่าคุณจะเป็นผู้หญิงที่รูปร่างหน้าตาแบบไหนหรือมาจากชาติกำเนิดใดคุณก็จะเป็นผู้หญิงที่ยอดเยี่ยมที่สุด
ต้องขอบคุณรายการนี้ที่ช่วยให้ช่วงประกาศกักตัวป้องกันการระบาดของ Covid-19 ผ่านไปได้ด้วยความสนุกและอบอุ่นหัวใจ
รูปสุดท้ายของงานประกาศผล
ปล. อีกเรื่องผู้เขียนขอยกความเก่งกาจด้านการตลาดให้ AMG (บริษัทต้นสังกัดของหลิวอวี่ซิน) เพราะทันทีที่รายการ YWY SS2 ประกาศผลวันที่ 30 พ.ค. 63 จบ วันรุ่งขึ้น AMG ประกาศปล่อยเพลงโซโล่ของหลิวอวี่ซิน 'Beatholic' ในวันที่ 1 มิ.ย. 63 ในแอพ NesteaseMusic (ของจีน) ตรงกับสำนวนน้ำขึ้นให้รีบตักหรือตีเหล็กตอนไฟยังแรงจริงๆ
'Beatholic'
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น