มีคำถามมาว่าไปโกงเงินมาเหรอ พอเข้าไปตรวจสอบเป็น "ชื่อซ้ำ" เลขบัญชีนั้นไม่ใช่ กระเบน (เจ๊ธิ)
โปรดระวังหากมีใครอ้างว่าเป็น "ธิดารัตน์ แซ่ตั้ง" เพราะแค่ใน facebook ก็เจอชื่อนี้เพียบเลย เคยไปตรวจสอบบัญชีกับกรุงไทย ชื่อนี้มีเกิน 3-4 หน้ากระดาษ A4 คือซ้ำเยอะมากๆ
หากมีอะไรเคาะมาถาม, โทรมาถาม ก่อนทุกครั้งนะ
กระเบน (เจ๊ธิ) ได้ไปลงบันทึกประจำวันไว้แล้ว
ขอยืนยันว่า กระเบน (เจ๊ธิ) ไม่ใช่มิจฉาชีพในเว็บ blacklistseller หากใครสงสัยอะไรให้มาสอบถามโดยตรง อย่าเชื่อและหลงกลคนที่แอบอ้างชื่อ "ธิดารัตน์ แซ่ตั้ง" ไปกระทำผิด
เว็บ https://www.blacklistseller.com ขึ้นประกาศชี้แจงกรณีชื่อ "ธิดารัตน์ แซ่ตั้ง" ซ้ำแล้ว
ถ้าค้นหาชื่อนามสกุลผู้กระทำผิด "ธิดารัตน์ แซ่ตั้ง" จะมี 12 กรณี (15 พ.ค. 2565) ทั้งหมดมีเลขบัญชีเดียวกัน
และทั้งหมดไม่ใช่ "ธิดารัตน์ แซ่ตั้ง" (กระเบน) (เจ๊ธิ) (หมวยเล็ก) ที่เป็นนักเขียนการ์ตูน
.......
ชื่อโหลทำพิษ - เมื่อชื่อนามสกุลตัวเองไปอยู่บนเว็บ blacklistseller.com
นับเป็นเรื่องสุดเซ็งในรอบหลายปีของผู้เขียน เมื่อจู่ๆ มีผู้อ่านถามมาว่า “ไปโกงเงินเขามาเหรอ”
พบทราบก็ไปค้นหาใน Google ช่วงเวลาประมาณ 5 ทุ่มวันที่ 8 พ.ค. 2565 ก็เจอ link ที่มีหัวข้อ “ผู้ขายที่ควรระวัง ธิดารัตน์ แซ่ตั้ง...” จริง เมื่อเข้าไปดูที่ link และค้นหาในเว็บ blacklistseller.com ก็พบว่ายังมีกรณีอื่นอีกรวมทั้งหมด 12 รายงาน หลังจากตั้งสติได้ก็เริ่มพิมพ์ข้อความติดต่อผู้ดูแลเพจและเว็บ blacklistseller.com ช่วงเวลาประมาณตีสามของวันที่ 9 พ.ค. 2565 ส่งแคปรูปการค้นชื่อ “ธิดารัตน์ แซ่ตั้ง” ในเฟซบุ๊กว่ามีคนใช้ชื่อนี้ซ้ำให้ผู้ดูแลเพจและเว็บ blacklistseller.com ช่วยแก้ไขรายละเอียด แต่ผู้ดูแลเพจและเว็บ blacklistseller.com ยืนยันต้องแสดงหลักฐานต่างๆ ถึงจะรับเรื่อง ทำให้ต้องออกไปตรวจสอบบัญชีกับธนาคารกสิกรไทย แล้วก็ไปลงบันทึกประจำวันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เอาหลักฐานมาแจ้งแก้ไขข้อมูลในเว็บ blacklistseller.com อีกรอบ
ต้องขอบคุณผู้อ่านท่านนั้นที่แจ้งเข้ามาเพราะถ้าไม่แจ้งป่านนี้ผู้เขียนก็ยังไม่รู้ว่าคนชื่อซ้ำกับตัวเองไปทำเรื่องจนชื่อไปขึ้นในเว็บ blacklistseller.com และยังโผล่หราตอนค้นหาบน Google แบบนี้ ไม่อยากนึกเลยว่า ก่อนที่ท่านนั้นแจ้งเข้ามาจะมีคนเห็นแต่ไม่มาบอกแล้วเอาไปเผยแพร่ต่อสร้างความเข้าใจผิดไปแล้วแค่ไหน
ถ้าถามความรู้สึก หลักๆ ก็คง “เซ็ง” แบบที่พิมพ์ไปในบรรทัดแรก เพราะแต่ก่อนตอนมีคนเสิร์ชชื่อผู้เขียน ลิงก์แรกๆ ที่ขึ้นมาใน Google คือผลงานของผู้เขียน, ข้อมูลหนังสือ, หรือข้อมูลสารนิพนธ์ในห้องสมุดของผู้เขียน พอ “คนชื่อซ้ำ” ไปก่อเรื่องนี้ลิงก์แรกที่ขึ้นมาเลยกลายเป็น “แบล็กลิสต์คนโกงและเลขบัญชีคนโกงที่ห้ามโอน” ในฐานะนักเขียนถือว่าเป็นความอัปยศแถมยังเป็นความอัปยศจากเหตุที่ตัวเองไม่ได้กระทำ และผู้เขียนจะรับไม่ได้มากสุดหากผู้ที่ไม่รู้ความจริงจะเอาความเท็จไปเผยแพร่ต่อแล้วสร้างความเสื่อมเสียไปถึงครอบครัว, คนรัก, เพื่อนและผู้ใหญ่ที่เคารพ
ขอบคุณคำแนะนำที่ให้ผู้เขียนเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุลแต่ผู้เขียนคงไม่เปลี่ยน เพราะนอกจากต้องยุ่งยากเรื่องเอกสารในอนาคตแล้ว ผู้เขียนยังคิดว่าเราไม่ใช่ผู้กระทำผิดทำไมเราถึงต้องทิ้งชื่อที่พ่อแม่ตั้งให้เพราะการกระทำของใครก็ไม่รู้ คนที่ควรละอายจนต้องเปลี่ยนชื่อคือ “คนชื่อซ้ำ” คนนั้นต่างหาก
ผู้เขียนจึงโกรธคนชื่อซ้ำคนนั้นมากแล้วก็รู้สึกเจ็บใจที่ตัวเองไม่สามารถดำเนินคดีกับคนคนนั้นเพราะไม่ใช่เจ้าทุกข์ที่โดนโกงโดยตรง
ผู้เขียนสงสัยมากว่าคนที่โดนคนชื่อซ้ำโกงทำไมถึงไม่มีใครไปแจ้งความดำเนินคดีกับคนคนนั้น? ในบางเว็บบอร์ดขนาดโกงของแค่หลักร้อยบาทเขายังหาทางลากคนโกงไปดำเนินคดีได้ ถ้าผู้เสียหายไปแจ้งความกันสักครึ่งผู้เขียนเชื่อว่าป่านนี้น่าจะลากตัวคนผิดออกมาดำเนินคดีหรือชดใช้เงินคืนได้แล้ว
และถึงผู้เขียนจะเข้าใจเจตนาของเว็บ blacklistseller.com ว่าต้องการประกาศรายชื่อคนโกงเพื่อไม่ให้เกิดเหยื่อเพิ่มจึงไม่คิดจะดำเนินคดีกับทางเว็บที่ทำให้ผู้เขียนเสื่อมเสียชื่อเสียงและแค่ให้เขาเพิ่มคำอธิบายว่า “ไม่ใช่คนที่เป็นนักเขียนการ์ตูน” แต่ผู้เขียนก็ยังรู้สึกเคืองที่ตัวเองอยู่ดีๆ ต้องเสียชื่อเสียงจาก “ระบบกล่าวหา”
ที่ว่า “ระบบกล่าวหา” หมายถึงระบบที่ผู้เขียนโดน “กล่าวหา” (โดยไม่เจตนา) จากทางเว็บ blacklistseller.com แล้วต้องหาทางพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง ไม่เช่นนั้นทางเว็บจะไม่ดำเนินการแก้ข้อความเพื่อปกป้องชื่อเสียงของผู้เขียน ทำให้ผู้เขียนรู้สึกเหมือนตัวเองกลายเป็นนางสีดาที่อยู่ดีๆ ก็ถูกบังคับให้มาลุยไฟทั้งที่ไม่ใช่เรื่อง
ผู้เขียนเข้าใจว่านี่เป็นเรื่องของการเตือนภัยจึงไม่ได้ขอให้เอาชื่อออกตั้งแต่ต้น แต่พอขอให้เขาเพิ่มเติมข้อความว่า “ไม่ใช่นักเขียนการ์ตูน” เพื่อปกป้องชื่อเสียงของผู้เขียน แต่ทางเว็บกลับออกตัวย้ำตลอดว่า “จะคงชื่อคนโกงคนนั้นไว้เพื่อเตือนภัย” ราวกับไม่ได้อ่านเจตนาของข้อความที่ผู้เขียนส่งไปและเข้าใจเอาเองว่า “ผู้เขียนอยากให้ลบชื่อออกจากบัญชีคนโกงถาวร” จึงตอบแบบยืนยันที่จะปกป้องสิทธิ์ของเว็บ blacklistseller.com ในการเผยแพร่รายชื่อคนโกงมากกว่าที่จะจริงใจในการช่วยปกป้องชื่อเสียงของผู้ชื่อซ้ำหรือผู้ที่โดนเอาชื่อไปแอบอ้างโดยไม่รู้ที่ได้รับผลกระทบจากเว็บ
การทำความดีด้วยเจตนาดีนั้นน่าสรรเสริญแต่อะไรที่สุดโต่งเกินไปก็ใช่ว่าจะดี เช่นในกรณีนี้การที่ทางเว็บ blacklistseller.com เผยแพร่ข้อมูลคนโกงเพื่อปกป้องไม่ให้คนตกเป็นเหยื่อเพิ่มนับเป็นสิ่งที่ดีก็จริง แต่การที่ทางเว็บลงข้อมูลของ “คนชื่อซ้ำ” ซึ่งทำให้ผู้เขียนเสื่อมเสียชื่อเสียงทางอ้อมแล้ว นอกจากจะไม่มีการแสดงความเสียใจ เห็นใจ หรือแม้แต่ให้คำขอโทษกลับยังเพิ่มภาระให้ผู้เขียนต้องพิสูจน์ตัวเองจึงจะยอมช่วยเพิ่มข้อความปกป้องชื่อเสียงของผู้เขียนอย่างเสียไม่ได้
มันชวนให้มองว่าเขา “ติดดี” มากจนเกินไป คิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำเป็นสิ่งที่ถูกจนไม่สนใจว่าจะมีคนเดือดร้อนจากการกระทำของตนเองหรือไม่ ลองหันกลับมาคิดแบบใจเขาใจเราดูว่าถ้าเป็นชื่อของเขาเองที่ไปซ้ำกับคนโกงจนมีคนเข้าใจผิด จนเกิดความเสียหายต่อตัวเขา เขาจะพอใจกับลักษณะการพูดและการจัดการกับปัญหาของทางเว็บแบบนี้อยู่หรือเปล่า?
ผู้เขียนพยายามมองในแง่ดีว่าที่เขาทำแบบนี้เพราะไม่แน่ใจในสถานะของผู้เขียน และอาจคิดว่าผู้เขียนคือคนโกงคนนั้นที่ปลอมตัวเป็น “คนชื่อซ้ำ” มาเพื่อหลอกให้ทางเว็บเอาชื่อออกจะได้สะดวกในการโกงคนอื่นต่อ แต่ในฐานะที่เป็นสื่อกลางที่มีผู้ใช้เข้าถึงมากก็ควรระมัดระวังในการตรวจสอบและนำเสนอข้อมูลให้มาก ทั้งยังควรมีน้ำใจที่จะกล่าวคำขอโทษหรืออย่างน้อยก็แสดงความเห็นใจต่อผู้เสียหายที่เกิดจากการเผยแพร่ข้อมูลของทางเว็บสักนิด “ไม่ใช่ทำเหมือนไม่ใช่ธุระของตัวเอง”
หากยกผลประโยชน์ให้จำเลยคือกรณีของผู้เขียนอาจเป็นกรณีแรกที่มี “คนชื่อซ้ำ” ออกมาแสดงตัวว่าเดือดร้อนจากการเผยแพร่ชื่อคนโกง ผู้เขียนก็ได้แต่หวังว่าทางเว็บ blacklistseller.com จะนำประสบการณ์ที่ได้จากกรณีของผู้เขียนไปปรับปรุงการประกาศรายชื่อคนโกงให้รัดกุมขึ้น เพื่อที่จะไม่มี “คนชื่อซ้ำ” เดือดร้อนจากการเผยแพร่ชื่อคนโกงของทางเว็บอีกเป็นรายที่ 2
เหตุการณ์นี้ให้บทเรียนผู้เขียนหลายเรื่อง เรื่องแรกคือ “ควรค้นหาชื่อนามสกุลตัวเองบน Google บ้าง” เพราะชื่อเราอาจไปปรากฏบนนั้นในรูปแบบที่เราคาดไม่ถึงได้ทุกเมื่อ ถึงไม่ใช่เรื่องคนชื่อซ้ำทำอะไรแปลกๆ แต่เคยมีข่าวว่ามีคนถูกมิจฉาชีพนำเอกสารที่หลุดจากที่ต่างๆ ไปทำอะไรแปลกๆ เช่น กู้เงิน
เรื่องที่สองคือ “อย่าเชื่อสิ่งที่เห็นบนเน็ตโดยไม่ตรวจสอบ” ปัจจุบันมีข้อมูลมากมายบนเน็ตทั้งจริงทั้งเท็จปะปนกัน เราจึงต้องใช้วิจารณญาณในการเสพสื่อและควรตรวจสอบข้อมูลก่อนตัดสินใจที่จะเชื่อหรือไม่เชื่ออะไร
อย่างในกรณีสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้เขียนนี้ น่าสนใจที่มีบางคนรู้จักกับผู้เขียนและรู้ช่องทางติดต่อกับผู้เขียนแต่กลับเลือกที่จะเชื่อว่าผู้เขียนกับ “คนชื่อซ้ำ” ที่เห็นเป็นคนเดียวกัน โดยไม่ไตร่ตรองว่ามันมีความเป็นไปได้หรือไม่และไม่คิดจะมาถามหาข้อเท็จจริงจากผู้เขียน เป็นไปได้ว่าเขาอาจไม่สนใจข้อเท็จจริงแต่แรกและเลือกที่จะเชื่อสิ่งที่เห็นทันทีเพราะมันถูกจริตของตนเองมากกว่า การใช้ตรรกะแบบนี้อันตรายเพราะมันทำให้ตนเองสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นเหยื่อของข้อมูลเท็จ ก่อนเราจะตัดสินใจเชื่ออะไรจึงควรตรวจสอบก่อนและควรเลือกเชื่อแต่ความจริงแม้มันจะไม่ถูกจริตของตนก็ตาม
เรื่องที่สามคือ “อย่าละโมบ” เหยื่อทุกรายที่ถูก “คนชื่อซ้ำ” หลอกให้โอนเงิน เกิดจากการหลงเชื่อเพราะคิดว่าจะได้ผลกำไรมหาศาลจริงซึ่งคนที่ตกเป็นเหยื่อรูปแบบคล้ายกันนี้มีเยอะมาก ก่อนจะตัดสินใจลงทุนไม่ว่ากับใครหรือในสินทรัพย์ไหนเราควรตรวจสอบข้อมูลให้ดีก่อนว่ามันมีความเป็นไปได้หรือไม่? ถ้าผลตอบแทนที่จะได้มาดูเยอะเกินจริงให้สงสัยไว้ก่อนว่า “ถูกหลอก” หรือ “เป็นการพนันมากกว่าการลงทุน” หรือ “มีสิทธิ์สูญเงินฟรี”
ผู้เขียนขอจบบันทึกประสบการณ์ความอัปยศที่ได้จาก “คนชื่อซ้ำ” ไว้แต่เพียงเท่านี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้จะได้ประโยชน์จากมันบ้างไม่มากก็น้อย
ปล. หลังจากที่รู้ว่าแม้ทางเว็บ blacklistseller.com ยอมใส่ข้อความ “ไม่ใช่นักเขียนการ์ตูน” ให้แล้วแต่ลิงก์แรกใน Google จะยังเป็นลิงก์ระบุบัญชีคนโกงอยู่ดี ผู้เขียนคุยกับคนรักว่า “ถ้าเป็นแบบนี้นอกจากให้เขาลบชื่อออกไปเลยทำยังไงลิงก์นี้ถึงหายไปได้ล่ะ?” คนรักตอบง่ายๆ ว่า “เธอก็ทำผลงานอะไรสักอย่างที่คนจะกดเข้าถึงมากกว่าลิงก์นั้นสิ เดี๋ยวมันก็ตกลงไปอยู่ล่างๆ เอง” ฟังแล้วก็ได้แต่หัวเราะหึๆ ผู้เขียนคงต้องทำงานให้หนักกว่านี้ = =”