งานวิจัยล่าสุดของ UN ระบุว่า ชายและหญิงเกือบ 90%
มีอคติต่อเพศหญิง
จากการวิเคราะห์ดัชนี Gender Social Norms ถึงอคติทางเพศในด้านต่างๆ
เช่น การเมืองและการศึกษา ใน 75 ประเทศทั่วโลกซึ่งครอบคลุมกว่า 80%
ของประชากรโลกได้ผลงานวิจัยระบุว่า
"ไม่มีประเทศไหนในโลกที่มีความเท่าเทียมกันทางเพศ"
- ผู้ชายและผู้หญิงมากกว่า 40% เชื่อว่า ผู้ชายสามารถบริหารธุรกิจได้ดีกว่า
- ผู้ชายมากกว่า 50%
เห็นว่าเพศชายมีสิทธิ์ในตำแหน่งงานมากกว่าเพศหญิง ผู้หญิงควรได้รับค่าแรงน้อยกว่าผู้ชายในตำแหน่งงานเดียวกันและไม่ควรได้รับการเลื่อนขั้นให้อยู่ในตำแหน่งบริหาร
- ผู้ชายและผู้หญิงทั่วโลกมากกว่า 50%
รู้สึกว่าผู้ชายเหมาะกับการเป็นผู้นำทางการเมืองมากกว่า
ปัจจุบันจำนวนของผู้นำรัฐบาลที่เป็นผู้หญิงมีน้อยกว่า 5 ปีก่อน คือ จากที่เคยมี 15
คน (ปี 2014) เหลือ 10 คน (ปี 2020) จาก 193 ประเทศ
- 28% ของผู้ตอบแบบสอบถามยอมรับได้หากผู้ชายจะทำร้ายร่างกายคู่ครองของตนเอง
Pedro Conceicao หัวหน้าฝ่ายพัฒนามนุษย์ของ UNDP กล่าวว่า
"เรามาไกลเกินกว่าที่จะทำให้สังคมยอมเชื่อว่าผู้หญิงควรได้รับสิทธิในการมีชีวิตขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกับผู้ชาย
ในช่วงไม่กี่ทศวรรษนี้ความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศยิ่งเด่นชัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านที่เกี่ยวกับการท้าทายความสัมพันธ์เชิงอำนาจและการส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกัน
ตรงข้ามกับความลำเอียงและอคติที่คนส่วนใหญ่คิดว่าทุกวันนี้สังคมเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น"
Raquel Lagunas ผู้กำกับทีมปฏิบัติการทางเพศของ UNDP กล่าวว่า
"เราต้องทลายกำแพงของความลำเอียงและอคติตั้งแต่ตอนนี้หากเราต้องการที่จะเห็นความคืบหน้าในการผลักดันให้มีความเท่าเทียมกันทางเพศโดยเร็วและขยายไปในวงกว้าง"
ในบทความนี้ผู้เขียนได้นำข้อมูลมาสรุปให้เหลือแค่หัวข้อที่สำคัญผู้อ่านสามารถตามไปอ่านสถิติอย่างละเอียดได้ในลิงก์ที่ให้ไว้หรือสามารถนำคีย์เวิร์ดไปค้นหาเพิ่มเติมได้
หากผู้อ่านได้อ่านบทความเก่าๆ ที่ผู้เขียนเคยเขียนก็คงเคยเห็นผู้เขียนพูดถึงการเหยียดเพศหญิงเป็นระยะๆ
เพียงแต่ตอนนี้มีงานวิจัยของ UN มารองรับให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้นเท่านั้น
(ที่จริงก็มีงานวิจัยจากสถาบันอื่นเป็นหัวข้อย่อยๆ
เกี่ยวกับเรื่องอคติทางเพศในสถานศึกษา ที่ทำงาน สาขาอาชีพ ฯลฯ ออกมาเป็นระยะ
เพียงแต่ที่ไม่ได้หยิบยกมาเพราะยังเห็นภาพไม่ชัด)
ทุกวันนี้ดูเหมือนผู้หญิงจะมีอิสระในการใช้ชีวิตมากขึ้นแต่ลึกๆ แล้วผู้หญิงยังไม่ได้เข้าถึงอำนาจในเชิงโครงสร้างเลย
อำนาจทางการเมืองการปกครองหรืออำนาจในการกำหนดทิศทางของสังคมยังอยู่ในมือผู้ชายแบบเบ็ดเสร็จและการเหยียดเพศยังมีอยู่เพียงแต่มันเปลี่ยนรูปแบบแอบซ่อนอย่างแนบเนียนต่างจากยุคก่อน
เช่น
- ผู้หญิงสามารถทำงานนอกบ้านได้แต่ยากที่จะได้เลื่อนตำแหน่งไปอยู่ในระดับผู้บริหาร
รับราชการได้แต่น้อยคนที่จะได้ขึ้นไปในระดับผู้นำองค์กร
เล่นการเมืองได้แต่น้อยคนจะได้ขึ้นไปเป็นระดับรัฐมนตรีหรือผู้นำประเทศ
- ยังมีบางอาชีพ (ในหลายประเทศ) ที่ถูกสงวนไว้เฉพาะผู้ชาย เช่น
สายทหาร,ตำรวจ และเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้หญิงจะขึ้นไปเป็นระดับผู้บังคับบัญชา
- ผู้หญิงเป็นเจ้าของกิจการได้แต่น้อยคนที่จะสามารถขยายกิจการให้มีขนาดใหญ่
ยิ่งหากไม่ได้เกิดมาในตระกูลร่ำรวยหรือมีเส้นสายแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำธุรกิจแล้วก้าวหน้า
- ผู้หญิงสามารถแสดงออกด้านเพศและความสัมพันธ์ได้มากขึ้นแต่สังคมกลับยังคงตำหนิผู้หญิงในเรื่องนี้
ไม่ตำหนิผู้ชายที่ทำเรื่องเดียวกันซ้ำบางส่วนยังมองว่าเป็นพฤติกรรมที่สร้างเสน่ห์ให้กับผู้ชายด้วยเช่น
การมีเมียน้อย, การคบชู้หรือคบหลายคนพร้อมกัน, การอยู่ก่อนแต่ง, การใช้สื่อลามก,
การซื้อผู้หญิงหรือการใช้สถานบริการเพื่อหาคนมามีเพศสัมพันธ์
รวมถึงหากผู้หญิงพลาดจากการมีเพศสัมพันธ์จนท้อง ไม่ว่าจะเก็บเด็กไว้หรือทำแท้งผู้หญิงจะเป็นฝ่ายเดียวที่ถูกประณาม
เราทุกคนเติบโตมาในสังคมชายเป็นใหญ่ (Patriarchy)
ดังนั้นเราทุกคนจึงมีความเหยียดเพศหญิง (Misogyny)
อยู่ในตัวไม่มากก็น้อยและส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัวทั้งไม่คิดว่าตัวเองเหยียด
เรามักยกย่องเพศชายดูถูกเพศหญิงเป็นเรื่องปกติแต่กลับมองการยกย่องเพศหญิงและตำหนิเพศชายว่าเป็นการเหยียดผู้ชาย
(Misandry) และเป็นพฤติกรรมน่ารังเกียจโดยอัตโนมัติ
เรายกย่องอวัยวะเพศชายมีการสร้างวัตถุมงคลจากลึงค์มากมายและยกย่องว่าผู้ชายสูงส่งกว่าผู้หญิงเพราะเป็นเพศที่มีลึงค์แต่อวัยวะเพศหญิงและระดูกลับถูกเหยียดว่าเป็นของต่ำของเสื่อมไม่ควรยกมาพูดถึงและมองผู้หญิงเป็นเพศที่ต่ำกว่าเพราะเป็นเพศที่ไม่มีลึงค์
เรารักลูกชายมากกว่าลูกสาวเพราะลูกชายสืบสกุลได้บวชให้พ่อแม่ได้ไม่ต้องห่วงว่าจะท้องก่อนแต่ง
(และส่วนใหญ่จะไม่สอนลูกชายตัวเองว่าอย่าไปทำลูกสาวคนอื่นท้องก่อนแต่ง)
และดูถูกลูกสาวเพราะลูกสาวต้องแต่งออกบวชแทนคุณไม่ได้และอาจถูกลูกชายของคนอื่นล่วงเกินให้ท้องก่อนแต่งเสียชื่อมาถึงพ่อแม่เรารับฟัง
เราให้น้ำหนักความคิดเห็นของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ผู้หญิงส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับความรู้สึกของผู้ชายมากกว่าการคำนึงถึงความรู้สึกของตัวเองหรือผู้หญิงคนอื่น
จนไม่กล้าวิจารณ์พฤติกรรมแย่ๆ ของผู้ชาย ไม่กล้าชมเชยผู้หญิงที่ทำดีหรือยกย่องเป็นต้นแบบเพราะกลัวโดนหาว่าเป็นพวกเกลียดผู้ชายหรือเป็นเลสเบี้ยน
ในขณะที่ผู้ชายยกย่องกันเองนับถือเพศเดียวกันเองตลอดโดยไม่มีคนกล่าวหาว่าเป็นเกย์
เรามักให้อภัยต่อพฤติกรรมแย่ๆ ของผู้ชาย เช่น การมีชู้
มีเพศสัมพันธ์กับคนจำนวนมากการซื้อบริการทางเพศ ตะคอกดูหมิ่นดูแคลนคนอื่น ใช้กำลังกับผู้อื่น
เอาเปรียบผู้อื่น ฯลฯ
และคิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นชายแต่ด่าว่าผู้หญิงที่ทำแบบเดียวกันและมักลงโทษทางสังคมต่อผู้หญิงเหล่านั้นอย่างรุนแรง
เราคาดหวังว่าผู้หญิงรอบตัวจะต้องพูดดี เอาใจเรา
อดทนต่อเราโดยอัตโนมัติ ในขณะที่เราไม่ได้คาดหวังสิ่งเหล่านี้จากผู้ชาย เมื่อผู้หญิงรอบตัวปฏิบัติตัวไม่ตรงกับกรอบความคิดที่เราวางไว้เรามักจะเหม็นขี้หน้าและมองว่าเธอเป็นคนไม่ดีในขณะที่หลายครั้งผู้ชายทำตัวแย่หรือเอาแต่ใจมากแค่ไหนเรากลับไม่รู้สึกโกรธหรือเกิดอคติต่อผู้ชายเท่าผู้หญิง
เรามักเชิดชูความสำเร็จของผู้ชายว่ามีคุณค่าและสำคัญกว่าผู้หญิงแต่ตอนที่ล้มเหลวเรามักจะตำหนิผู้หญิงหนักกว่าผู้ชายและมักตำหนิที่ความเป็นเพศหญิง
และเราชาชินกับความรุนแรงโดยเฉพาะความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงแต่รู้สึกว่ารับไม่ได้หากความรุนแรงแบบเดียวกันเกิดขึ้นกับผู้ชาย
ในสังคมชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) สังคมประเมินค่าของผู้ชายจากประโยชน์ที่ผู้ชายมีต่อสังคมแต่จะประเมินผู้หญิงจากประโยชน์ที่ผู้หญิงมีต่อผู้ชาย
การเกิดเป็นชายหมายถึงการมีอิสระแต่การเกิดเป็นหญิงหมายถึงการต้องอยู่ในกรอบและถูกบีบอัดด้วยกฎเกณฑ์ทางสังคมมากมาย
ซึ่งกฎเกณฑ์ทางสังคมที่มีมากมายเหล่านี้ก็เพื่อขัดเกลาผู้หญิงให้มีประโยชน์ต่อผู้ชายสูงสุดและหากผู้หญิงเลือกที่จะอยู่โดยปฏิเสธกฎเกณฑ์เหล่านั้น
(ไม่แต่งหน้า ไม่สวมกระโปรง ไม่แต่งตัวแบบผู้หญิง ไม่ทำตัวแบบที่ผู้ชายพอใจไม่มีแฟนไม่มีลูก
ฯลฯ) ผู้หญิงเหล่านั้นก็จะถูกปฏิบัติแบบพลเมืองชั้น 2
ถูกกันออกจากสังคมโดยอัตโนมัติและอาจถูกผู้ชายข่มเหงหรือคุกคามทางเพศเพื่อ
“สั่งสอน”
นั่นทำให้ผู้หญิงจำนวนมากเกิดความกลัวที่จะคิดหรือทำสิ่งที่แตกต่าง เลือกที่จะไม่แสดงความคิดเห็นของตนจริงๆ
ทำตามระบบแล้วอยู่ในสังคมแบบตัวใครตัวมันหรือเข้าข้างผู้ชายด้วยการวางตัวเฉยเมื่อเห็นผู้หญิงเดือดร้อนและยังช่วยผู้ชายกลั่นแกล้งซ้ำเติมผู้หญิงที่ถูกรังแกหรือดูหมิ่นผู้หญิงที่รวมตัวกันออกมาเรียกร้องสิทธิด้วยหวังว่าการทำเช่นนั้นจะทำให้ตัวเองได้รับการยอมรับจากผู้ชายแล้วสถานะทางสังคมของตนจะปลอดภัย
หากจะพูดถึงความเหลื่อมล้ำทางเพศให้ครบทุกแง่มุมคงเป็นไปไม่ได้ที่จะเขียนให้ครบถ้วนตรงนี้เพราะมีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะมาก
หากมีโอกาสผู้เขียนจะเรียบเรียงแล้วนำมาลงให้อ่านกันในโอกาสหน้า
การรับรู้ข้อมูลว่ายังมีอคติทางเพศอยู่ไม่ใช่เพื่อให้ท้อใจหรือหมดกำลังใจ
แต่เพื่อให้ผู้หญิงรู้เท่าทันว่าเกิดอะไรขึ้น คนในสังคมมีความคิดและมีค่านิยมอย่างไร
ทำไมสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเราไม่เกิดขึ้นกับผู้ชายที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อจะได้ระวังตัวในการใช้ชีวิตมากขึ้น
ซึ่งก็คงดีกว่าการหลอกตัวเองว่า “ชายหญิงเท่าเทียมกันแล้ว”
แต่พอใช้ชีวิตในสังคมจริงๆ สิ่งที่เจอกลับตรงข้ามแล้วไม่สามารถอธิบายออกมาเป็นคำพูดได้
และที่สำคัญเราจะได้ทบทวนตัวเองว่า "ลำเอียงและอคติต่อเพศหญิง"
ด้วยหรือไม่
ผู้อ่านไม่จำเป็นต้องเชื่อทุกสิ่งที่ผู้เขียนพูดเพราะการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดคือการสังเกตทุกสิ่งรอบตัวแล้วนำมาคิดวิเคราะห์นำคีย์เวิร์ดจากแหล่งต่างๆ
ไปค้นหาแล้วศึกษาเพิ่มเติมเพื่อหาข้อสรุปด้วยตัวเอง
ปัจจุบันเพศหญิง (female) และความเป็นหญิง (womanhood) ถูกด้อยค่าลงจนเป็นสิ่งน่ารังเกียจและแทบจะกลายเป็นแค่รสนิยมทางเพศ
(fetish) ของคนบางกลุ่มไปแล้ว
สุดท้ายหากผู้หญิงด้วยกันยังไม่คิดจะให้เกียรติผู้หญิงหรือลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิตัวเองเพศหญิงก็จะถูกสังคมมองว่าเป็นเพศที่ต่ำกว่าตลอดไป
อ้างอิงจาก
หมายเหตุ :
ที่จริงแปลสรุปย่อข่าวนี้เสร็จตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2563 ที่เพิ่งออกแต่ที่ยังไม่นำมาลงเพราะเห็นว่าสถานการณ์
Covid-19
และข่าวที่แวดล้อมต่างๆ
ชวนให้ผู้คนเครียดกันมากพอแล้วจึงไม่อยากลงช่วงนั้นให้ผู้อ่านเกิดความเครียดมากขึ้น
แล้วนำมาลงช่วงนี้แทน (ตอนค้นเว็บเพื่อหาลิงก์อ้างอิงเพิ่มพบว่าสำนักข่าวของไทยก็มีแปลบทความนี้เป็นภาษาไทยแล้วเช่นกัน
หากสนใจสามารถนำหัวข้อค้นหาในกูเกิ้ลอ่านรายละเอียดในตัวเต็มได้)